การปลูกข่า

การปลูกข่าก็คล้ายๆ กับการปลูกพืชผักทั่วๆไป แต่ละสวนก็จะมีวิธีการบางขั้นตอนแตกต่างกันไปบ้าง หรืออาจพูดให้เข้าใจง่ายว่าไม่มีสูตรตายตัว สภาพดินที่เหมาะต่อการปลูกข่ามากที่สุดควรเป็นดินร่วนปนทราย และจะต้องเป็นพื้นที่น้ำไม่ท่วมขัง

วิธีการที่จะกล่าวต่อจากนี้ไปก็เป็นวิธีการแบบฉบับของสวนข่า-ตะไคร้-ใบมะกรูด บางละมุงคือ

  1. ไถดะพลิกหน้าดินให้ลึก เพื่อดินจะได้ร่วน และโปร่ง น้ำจะได้ไม่ขัง และเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี เสร็จแล้วไถแปร และไถพรวนชักร่องเหมือนกับการปลูกอ้อย หลังจากนั้นตากแดดหน้าดินเป็นเวลา 5 – 7 วัน เพื่อหมักวัชพืชให้ตาย และเป็นการฆ่าเชื้อราในดินด้วย
  2. ขุดหลุมห่างกัน 1 เมตร ลึก 20 ซม. แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 หรือ 19-19-19 ในอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อ
    หลุม, ไร่หนึ่งจะปลูกข่าได้ 1,500 หลุม (1 ไร่ = 1,600 ตรม. หรือ กว้าง 40ม. ยาว 40ม.)
  3. นำหัวที่มีหน่อลงปลูกหลุมละ 0.5 กิโลกรัม แล้วกลบด้วยดินผสมปุ๋ยคอก และแกลบ ด้วยอัตราส่วน 50 : 50 ต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกจะใช้เหง้าอ่อน หรือเหง้าแก่ก็ได้ โดยมีข้อเด่น และข้อด้อยต่างกันคือถ้าใช้เหง้าอ่อนการเจริญเติบโตจะเร็วในช่วงแรก แต่ต้นทุนในการซื้อต้นพันธุ์ค่อนข้างสูง ในกรณีที่ใช้เหง้าแก่จะให้การเจริญเติบโตที่ช้ากว่า แต่มีข้อดีที่ต้นทุนต่ำกว่าเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าของสวนแล้วนะครับ
  4. ภายหลังการปลูกควรให้น้ำจนดินมีความชุ่มอยู่ตลอดเวลา
  5. เมื่อครบ 2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 หรือ สูตร 19-19-19 อีกครั้งในอัตราส่วนปุ๋ย 50 กก.ต่อพื้นที่ 1ไร่ และใส่อีกครั้งเมื่อครบ 6 เดือน
  6. เมื่อข่าอายุ 7-8 เดือน สามารถขุดข่าอ่อนออกจำหน่ายได้ สำหรับข่าแก่ที่สามารถส่งเข้าโรงงานน้ำพริกควรมีอายุ 1 ปี
  7. ข่า 1 หลุมจะสามารถให้ผลผลิต 5 – 10 กก. ดังนั้นพื้นที่ 1 ไร่ หรือ 1,500 หลุมจะมีผลผลิตประมาณ 7.5ตัน หรือ 7,500 กก.
  8. เมื่อครบ 8 เดือน เกษตรสามารถเริ่มทะยอยขุดข่าขึ้นมาขายไปเรื่อยๆ จนครบอายุ 2 ปี ช่วงที่ข่าจะให้น้ำหนักดีจะอยู่ในช่วงอายุ 1 ปี ถึง 1.5 ปี, ก่อนที่จะขุดข่าจะต้องปรับสภาพดินให้มีความชื้นโดยการรดน้ำพอให้ดินชุ่มล่วงหน้าซัก 1 – 2 วัน เพื่อให้ง่ายต่อการขุด โดยปกติในเวลา 1 ชม. จะสามารถขุดได้มากกว่า 100 กก. ต่อ 1 คน
  9. ภายหลังจากขุดจะนำข่ามาล้างโดยใช้เครื่องสูบน้ำแรงดันสูงฉีดไปยังเหง้า ซึ่งวิธีนี้จะสะดวก และรวดเร็วมาก แรงดันน้ำจะทำให้เศษดินหลุดออกจนหมด หลังจากนั้นจึงทำการตัดรากข่าออกให้หมด
  10. คัดแยกข่าอ่อน และข่าแก่ออกจากกัน โดยปกติสัดส่วนของข่าอ่อนประมาณ 70 % และข่าแก่ประมาณ 30 % ถ้าเกษตรกรขุดข่าเมื่ออายุ 1 ปีครึ่งขึ้นไปจะมีสัดส่วนของข่าแก่มากกว่าข่าอ่อนตามลำดับ และมักจะขุดข่าในช่วงเช้าเพื่อความสด
  11. เทคนิคการรักษาสภาพของเหง้าข่าให้คงความสด และสีสวยออยู่ได้นานจนถึงปลายทาง จึงจำเป็นที่จะต้องตัดแต่งรากและเหง้าให้เสร็จเรียบร้อย แล้วนำเหง้าจุ่มลงในน้ำสะอาดที่กวนด้วยสารส้ม (น้ำสารส้มจะช่วยรักษาเหง้าข่าให้ดูสดอยู่เสมอ)
  12. การบรรจุ มักจะบรรจุข่าลงถุงพลาสติกใสน้ำหนัก 5 กิโลกรัม / ถุง เพื่อส่งจำหน่ายต่อไป

    ขั้นตอน และกรรมวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นวิธีการที่ทางสวนของเราเลือกที่จะทำแบบดังกล่าว อาจจะมีความคล้าย หรือแตกต่างจากสวนอื่นบ้าง ก็แล้วแต่ทางผู้สวนใจจะนำไปคิดวิเคราะห์ต่อยอด ขอบอกว่าไม่มีอะไรตายตัวครับ สามารถปรับได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่